
After I Graduated : พี่คาร์โล TNI#02
TNI Alumni Interview 2023 : After I Graduated รายการสัมภาษณ์ศิษย์เก่าชาว TNI ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่บ้าง แล้วประสบการณ์สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่ TNI เป็นอย่างไรในสมัยนั้น เริ่มต้นคนแรกที่ พี่คาร์โล เบอร์ตินี หรือพี่คาร์โล ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ TNI รุ่นที่ 2 กับอาชีพปัจจุบันในการเป็นวิศวกรโครงการในบริษัทปิโตรเลียม ในขณะที่สถาบันไม่มีสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม หรือวิศวกรรมเคมี ไหงจับพลัดจับผลูทำงานในบริษัทน้ำมันได้ อีกทั้งพี่คาร์โลจะบอกเล่าถึงความเป็น TNI และประสบการณ์ที่ได้รับและใช้จนถึงทุกวันนี้
ให้พี่คาร์โลแนะนำตัวนิดนึง
ชื่อคาร์โล เบอร์ตินี เรียนจบจากที่สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ระดับปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขายานยนต์ ปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการอุตสาหกรรม เป็น TNI รุ่นที่ 2 ครับ ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ปตท. สำรวจและผลิตปิโครเลียม ตำแหน่งวิศวกรโครงการ จะจัดการโครงการก่อสร้างต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำมันและแก๊ส ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมาก็ก่อสร้างแท่นที่ติดตั้งในทะเล
คำถามแรกเลย พี่คาร์โลตัดสินใจอย่างไรในการสมัครเข้าเรียนที่ TNI
ถ้าเอาสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจจริงๆก็น่าจะเป็นเรื่องทุนการศึกษา ในตอนนั้นสถาบันมีทุน 100% และประชาสัมพันธ์ไปทางโรงเรียนมัธยมต่างๆ ผมก็ไปเห็นตัวทุนนี้เลยตัดสินใจสมัคร แล้วได้รับการคัดเลือก ก็เลยตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการเข้าเรียนที่นี่
แล้วในการเลือกคณะที่เรียน ทำไมถึงเลือกเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์
ตอนนั้นมีทางเลือกอยู่สองทาง ไม่เลือกเป็นวิศวกรก็จะเลือกไปเล่นดนตรีแจ๊ส แต่ด้วยสถานการณ์ในประเทศไทย ณ ตอนนั้นยังไม่เอื้อกับการเล่นดนตรี ก็เลยเลือกวิศวกรดีกว่า (ฮา) พอดีกับทางสถาบันมีทุนการศึกษาและมีวิศวะยานยนต์ที่สนับสนุนโดยบริษัทญี่ปุ่น ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วในการสมัครเข้าเรียนที่นี่
ตอนที่เข้ามาเรียนที่ TNI ให้ความรู้สึกแตกต่างกับสมัยมัธยมมากไหมในความรู้สึก
เปลี่ยนเยอะครับ ตั้งแต่สังคมเพื่อน การตัดเกรด การศึกษา สมัยมัธยมเรามีคะแนนเก็บ 80 แต่พอเข้ามหาลัยคะแนนสอบ 80 คะแนนสอบ 100 หากไม่สามารถสอบให้ได้คะแนนสูงก็ไม่สามารถไปต่อได้ สังคมเพื่อนก็เหมือนกัน มัธยมเพื่อนก็มาจากใกล้ๆเคียง แต่มหาลัยเพื่อนๆก็มาจากทั่วประเทศมารวมกัน เป็นโอกาสได้เปิดโลกกว้าง แต่ก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้
บรรยากาศและวัฒนธรรมของคณะวิศวกรรม TNI อะไรโดดเด่นที่สุด
สังคมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งอาจารย์และนักศึกษา เราสามารถพูดคุยกันได้ด้วยเหตุและผลโดยไม่ต้องทะเลาะกัน เป็นสังคมที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ
ได้ยินว่าชอบดนตรีแจ๊ส มีเข้าร่วมกิจกรรมหรือเปิดชมรมอะไรในสถาบันไหม
ก็เข้าร่วมเล่นในวงสตริงของสถาบัน แต่ไม่ได้เป็นประธานชมรมหรืออะไร ในตอนนั้นไปเป็นประธานชมรมวิชาการและนายกสโมสรนักศึกษา (ฮา) ก็เลยไม่ได้ไปเป็นตรงนั้น แต่เข้าร่วมเรื่อยๆ
จากที่เคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษามา มีความคิดเห็นอย่างไรในแนวทางการทำกิจกรรมของนักศึกษา
จริงๆการที่แนวทางกิจกรรมของนักศึกษาจะเป็นในทิศทางไหนเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยสถาบัน ตามปรัชญาของสถาบันเรื่อง Monodzukuri คิด / สร้าง / ทำ ออกมาเพื่อนำไปใช้จริง และจริงๆเป็นปรัชญาที่ดี จริงๆไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ แต่อยากให้คิดว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหา มีแนวทางในการใช้ชีวิตในการทำงานต่อไป ซึ่งสถาบันก็มีปรัชญาตัวนี้ที่จะปลูกฝังให้กับนักศึกษาทุกๆคน
แล้วหากถามถึงชีวิตหลังเรียนจบ อาชีพแรกที่พี่คาร์โลทำคืออาชีพอะไร
ก็อาชีพที่ทำอยู่ตอนนี้แหละครับ
แล้วตอนที่สมัครงานมีความกดดันไหม เนื่องจากสถาบัน TNI ในตอนนั้นเป็นสถาบันขนาดเล็กและเป็นสถาบันน้องใหม่
ก็กดดัน พี่โดนสองเด้ง ต้องเล่าว่าปตท.เป็นบริษัทที่เข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการคุยกันของเพื่อนแล้วเราไปเห็นพอดี เลยสมัครเข้าไป ตอนนั้นเป็นช่วงปีสี่ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็สมัครไปเรื่อยๆ ซึ่งสมัครที่นี่เป็นที่แรก ส่วนบริษัทยานยนต์อื่นๆเปิดรับสมัครทีหลัง พี่ก็สมัครไปหลายที่เลย บริษัทสายไฟก็สมัคร แต่สุดท้ายไม่มีที่ไหนรับ (ฮา) มาได้ที่ปตท.สผ. ซึ่งเวลาการรับสมัครอยู่ที่ 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มสอบจนถึงสัมภาษณ์รอบสุดท้าย กดดันและวิตกกังวลระดับหนึ่ง ทุกบริษัทก็ต้องเฟ้นหาคนที่ตรงกับหลักเกณฑ์ของเขา
เล่าเรื่องการทำงานสายปิโตรเลียมให้ฟังนิดนึง ได้ยินว่าต้องไปทำงานกลางทะเลอยู่นานหลายเดือนจริงไหม
มีทำงานกลางทะเล แต่ไม่ถึงกับสามเดือนหกเดือน กฎหมายไทยมีกำหนดไว้ว่าให้ทำงานกลางทะเลได้ไม่เกิน 28 วันและให้พักอย่างน้อยครึ่งนึงของวันทำงาน ตรงนั้นก็มีคนทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่สามารถปล่อยเว้นไว้ได้ พี่เคยไปทำมาแล้วเหมือนกัน ก็สนุกดี ถ้าได้นอนบนแท่นก็มีสวัสดิการทุกอย่างครบครัน ทั้งห้องอาหาร ห้องเล่นเกม ห้องออกกำลังกาย ถ้าทำงานบนเรือก็มีเหมือนกันแต่จะโคลงเคลง หากที่นอนบนแท่นไม่พอ ก็จะมีหอพักที่อยู่บนเรือเสริมเข้ามา นอนได้ 200 คน ก็จะมีทุกอย่างเหมือนกัน บริการดุจโรงแรมห้าดาว (ฮา)
ช่วงทำงานเกิดปัญหาบ่อยไหม ที่เกิดบ่อยสุดจะเป็นเรื่องอะไร แก้ไขปัญหาอย่างไร
ในการทำงานปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน อยู่ที่เราจะแก้ปัญหาอย่างไร เรื่องที่เกิดบ่อยสุดคือปัญหาเรื่องคน ที่การกระทำของเราอาจจะไม่ถูกใจคนอื่นๆ การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการคุยกัน เราต้องคุยด้วยภาษาที่อีกฝั่งสามารถเข้าใจได้และคุยอย่างมีเหตุมีผล และการกระทำที่ทำโดยพลการ ไม่ได้แจ้งให้ใครทราบ ก็อาจจะทำให้คนอื่นตกใจได้ อย่างน้อยต้องวางแผนแล้วคุยกัน
แล้วทักษะจากสมัยเรียนที่ TNI สามารถนำไปใช้กับงานได้ไหม
อย่างที่บอกเลยครับ กลับมาที่ปรัชญาสถาบัน Monodzukuri ที่สอนให้คิด / สร้าง การแก้ไขปัญหา ตรงนี้แหละที่สถาบันเราเปิดโอกาสมากๆ อาจจะเพราะสถาบันเราไม่ได้มีขนาดใหญ่ ทำให้สังคมที่มีอยู่ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาใกล้ชิดกันมาก อย่างที่เราเห็นว่าเวิร์คชอปเข้าได้ตลอด อยากทำรถก็ทำได้ อยากทำอะไรก็ทำได้ ห้องอาจารย์ก็สามารถเข้าถึงได้ แค่ไปเคาะประตูก็เข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ได้แล้ว สังคมตรงนี้มีส่วนช่วยในการปรับ Mindset ของนักศึกษา ทำให้นักศึกษารู้จักการปรับตัว และสามารถนำเสนอไอเดีย วิธีการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
หากมองไปที่ TNI ณ ขณะนิ้กับช่วงที่พี่คาร์โลเรียนอยู่ที่นี่ TNI เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
แตกต่างกันเยอะมาก สมัยที่เข้ามาเรียนสถาบันยังมีแค่ 2 ตึก ที่เรานั่งคุยกันในเวิร์คชอปตรงนี้ยังเป็นป่า มีหญ้ารกอยู่เลย เตะบอลก็เข้าป่า บอลหายตั้งไม่รู้กี่ลูก (ฮา) ก็เปลี่ยนไปเยอะอยู่ สิ่งที่เคยฟีดแบคไปในรุ่นพี่ก็ได้ใส่เข้ามา มีลานกิจกรรม มีสนามบอล มีอัฒจันทร์เชียร์ ต้นไม้โตขึ้นเยอะ ร่มรื่นมากๆ
หากให้สรุปจุดเด่นของความเป็น TNI พี่คาร์โลคิดว่าเป็นเรื่องอะไร
ก็คงเป็นปรัชญาสถาบันที่ชัดเจน ที่หวังว่าจะสามารถสื่อสารให้นักศึกษาทุกคนเข้าใจได้ ว่าการคิดเป็นและนำไปใช้ได้ คือวิชาชีวิตที่สำคัญที่สุด
อยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆที่กำลังตัดสินใจจะเข้าที่ TNI หรือกำลังจะเริ่มเรียนหน่อย
สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะเป็นสถาบันที่ยังใหม่อยู่ ไม่ได้มีอายุ 30-40 ปี แต่เราไม่ได้ด้อยเรื่องคุณภาพหรือสภาวะแวดล้อม ผมคิดว่าที่นี่มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ถึงดีมากๆ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะมากๆสำหรับสี่ปีก่อนจะเข้าสู่วัยทำงาน ที่นี่สอนให้ปรับตัว สอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ มีเหตุมีผล ทั้งด้านวิชาการ ทั้งด้านอารมณ์ รวมถึงโบนัสในด้านภาษาอย่างภาษาญี่ปุ่น อย่างที่บอกว่าสังคมดี เราสามารถพูดคุยกับอาจารย์ทุกท่านได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงห้องผู้อำนวยการ (ฮา) แต่ก็ต้องมีชั้นเชิงในการเข้าหา ไม่ใช่เดินเข้าไปโต้งๆ (ฮา) และเรื่องวิชาการก็มีคุณภาพ